ยุคที่คนใกล้ชิดกับเทคโนโลยี ในยุตไทยแลนด์ 4.0 แบบนี้การตัดสินใจลงทุนทำอะไรสักอย่างนับเป็นเรื่องสร้างความลำบากใจให้กับผู้ประกอบการไม่น้อย โดยเฉพาะการกระตุ้นยอดขายด้วยการโฆษณาผ่านช่องทางจำพวกสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหนาเอาการ ทั้งยังไม่อาจมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ากลวิธีการโฆษณาที่ตัดสินใจลงทุนไปจะได้ผลจริงหรือไม่ ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันมาพึ่งวิธีดั้งเดิมที่เรียกว่าการตลาดแบบปากต่อปาก หรือ Word of Mouth Marketing
การตลาดแบบปากต่อปากเริ่มจากการที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้เห็นเองมากกว่าการเห็นผ่านสื่อ แนวคิดการทำการตลาดด้วยวิธีนี้จึงถูกนำไปประยุกต์เป็นต้นกำเนิดธุรกิจขายตรงซึ่งผู้ขายไปสาธิตสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคถึงบ้าน สิ่งจูงใจในการทำการตลาดรูปแบบนี้นอกจากประหยัดและรวดเร็วแล้วคือ “ตรงกลุ่มเป้าหมาย” นั่นเอง เพราะผู้บริโภคมักจะแนะนำสินค้าที่ตนประทับใจให้คนรอบตัว การตลาดในรูปแบบนี้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และหากผู้ประกอบการตัดสินใจจะใช้การตลาดแบบปากต่อปาก สิ่งที่ต้องจัดทำ-จัดหา-เตรียมการสิ่งเหล่านี้
1. ผู้บอกต่อ (Talkers)
จัดอบรมพนักงานเพื่อให้พวกเขาสามารถให้ข้อมูลผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บอกต่อคือผู้ที่เชื่อมั่นและภักดีในแบรนด์ของเรา ทั้งยังสามารถทำหน้าที่แนะนำสินค้าและบริการให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการได้ ผู้บอกต่อนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ
- ผู้บอกต่อภายนอกหรือผู้บริโภค การจะสร้างสัมพันธ์กับผู้บอกต่อภายนอก เราต้องไม่เน้นเรื่องการขายมากเกินไป แต่ควรเน้นไปทางสร้างมิตรภาพจะดีกว่า เพราะหากเราชนะใจลูกค้าได้ เขาก็จะสนใจแบรนด์ของเราเอง นอกจากนี้การส่งเสริมการขายต่างๆ ด้วยการแจกของรางวัล บัตรกำนัล บัตรสมาชิก คูปองส่วนลด หรือสินค้าทดลองก็ยังสร้างความประทับใจและดึงดูดผู้บริโภคให้กลายเป็นผู้บอกต่อ เพราะการได้รับสิ่งของเหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นคนพิเศษสำหรับแบรนด์
- ผู้บอกต่อภายในคือทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของเรา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการไปจนถึงตัวแทนจำหน่าย ถือเป็นผู้มีบทบาทเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้คลุกคลีกับสินค้าและบริการโดยตรง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องจัดอบรมเพื่อให้พวกเขาสามารถให้ข้อมูลผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ควรส่งเสริมความก้าวหน้าทางอาชีพ รวมไปถึงการให้พวกเขาได้มีโอกาสทดลองใช้สินค้าและบริการเพื่อจะได้แนะนำให้คนรู้จักลองใช้งาน ซึ่งอาจกลายเป็นผู้บอกต่อภายนอกในวันข้างหน้าก็ได้
2. สิ่งที่คุณต้องการบอกต่อ (Topics)
เมื่อหาผู้บอกต่อได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการให้เผยแพร่ อาจเป็นสโลแกนของแบรนด์ โลโก้ มาตรการส่งเสริมการขายเฉพาะจำพวกส่วนลดหรือสิทธิพิเศษ ไปจนถึงลักษณะเฉพาะต่างๆ ซึ่งหัวข้อของสิ่งที่เราต้องการบอกควรเป็นในแง่บวก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ทั้งยังต้องเข้าใจง่าย เพราะถ้าหากหัวข้อดังกล่าวยากเกินไปก็จะเผยแพร่ได้ยากและอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร อีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือสิ่งที่เราต้องการเผยแพร่นั้นต้องมีความน่าสนใจ เพราะลำพังแค่สินค้ามีคุณภาพดีอาจไม่ทำให้ผู้บริโภคสนใจจนอยากบอกต่อ เราอาจใช้วิธีปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดูเก๋ไก๋เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจก็ได้
3. วิธีที่จะใช้บอกต่อ (Tools)
เราต้องเฟ้นหาเครื่องมือหรือช่องทางการสื่อสารที่จะทำให้การบอกต่อเป็นไปได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญต้องสะดวกสบายสำหรับผู้บริโภคมากที่สุด เช่น การแจกส่วนลดผ่าน Twitter, Facebook ,Instragram หรือการให้คำแนะนำผ่านเว็บไซต์ของบริษัท การให้ข้อมูลผ่านการทำวิจัยกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น เรื่องน่ารู้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับช่องทางการบอกต่อก็คือ การสื่อสารผ่านทางจดหมายถือเป็นการรบกวนผู้บริโภคอย่างสุภาพและเปิดใจผู้บริโภคได้ดีกว่าการใช้โทรศัพท์
4. เข้าไปมีส่วนร่วมในการบอกต่อ (Taking Part)
ควรติดต่อลูกค้าหลังขายสินค้าหรือให้บริการ เพราะจะได้ทราบว่าผู้บริโภคเริ่มมั่นใจหรือไม่มั่นใจในสินค้าของเรา ควรทำให้เขารู้สึกว่าเรายังใส่ใจ และทำความเข้าใจกับสินค้าหรือบริการนั้นๆ
จริงๆ แล้วการทำการตลาดแบบปากต่อปากจัดเป็นส่วนหนึ่งของงานลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Services) หรือการบริการหลังการขาย ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะผู้ประกอบการหรือฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ต้องลงพื้นที่ไปพบกับผู้บริโภคตัวจริงเพื่อสนับสนุนแบรนด์ผ่านการสนทนากับพวกเขา เพื่อตอบข้อสงสัย รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปพบลูกค้า พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ ตอบข้อความผ่านบล็อกหรือเว็บบอร์ด ซึ่งเป้าหมายก็คือเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเผยปัญหาที่แท้จริงออกมาแลัวจึงเร่งแก้ไขทันที
อีกทั้งต้องทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก ช่วงเวลาที่เราควรจะติดต่อพวกเขามากที่สุดคือ 1 เดือนหลังได้รับสินค้าหรือบริการ เพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคเริ่มไม่มั่นใจในสินค้าของเรา ดังนั้นควรทำให้เขารู้สึกว่าเรายังใส่ใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วเมื่อเขาประทับใจก็จะกลายมาเป็นผู้บอกต่อในอนาคตของเรานั่นเอง
5. ประเมินผลการบอกต่อ (Tracking)
รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วประเมินดูว่าผู้บริโภคมีความเห็นอย่างไรต่อสินค้า บริการ การทำการตลาด ตลอดจนถึงองค์กร เพื่อชี้วัดว่าการทำการตลาดแบบปากต่อปากประสบผลสำเร็จหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวยังบอกได้ว่าผู้บริโภคเข้าใจตรงกับที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนากลยุทธ์การตลาดต่อไปได้อีกด้วย
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้เกี่บวกับการทำการตลาดแบบปากต่อปาก คือ ข่าวด้านลบมักแพร่ได้เร็วกว่าข่าวด้านบวกหลายเท่าตัว แต่ก็ใช่ว่าข่าวด้านลบจะไม่เป็นประโยชน์เลย ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยในบ้านเมืองเรา เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีต้นทุนการสร้างจำกัดจึงแกล้งปล่อยข่าวคาวของดาราและภาพหลุดต่างๆ ออกมา พอสื่อเอาไปลงข่าว ผู้อ่านก็สนใจ และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ สุดท้ายผู้คนก็พากันไปดูว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ กลายเป็นว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำเงินทั้งที่แทบไม่ได้ลงทุนโปรโมตอะไรมากมาย เพราะคนมักจะให้ความสนใจกับข่าวลือโดยเฉพาะข่าวด้านลบกันอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ดารา นักการเมือง ไฮโซ ไปจนถึงหมอดู หลายๆ คนหยิบยืมกลยุทธ์การทำการตลาดรูปแบบนี้ไปเป็นใบเบิกทางสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง
แม้ว่าข่าวลือเสียๆ จะเป็นประโยชน์กับเหล่าคนดัง แต่สำหรับผู้ประกอบการแล้วกลับตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง การมีข่าวลือด้านลบกลับไม่เป็นประโยชน์สำหรับกิจการเลย เพราะแม้ข่าวเสียๆ หายๆ นั้นจะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วก็จริง แต่อย่าลืมว่าผู้บริโภคเลือกแบรนด์ของเราเพราะมันเป็น “เรื่องของเขา” โดยตรง ไม่ใช่ “เรื่องของคนอื่น” อย่างภาพยนตร์ ดารา นักการเมือง ไฮโซ หมอดูที่กล่าวไปข้างต้น และรับรองว่าไม่มีใครอยากเลือกสิ่งไม่ดีให้กับตนเองแน่นอน อย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวลือว่ามีคนเสียชีวิตเพราะดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง ทำให้เครื่องดื่มที่ว่ากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ แต่ยอดขายก็ตกฮวบในทันทีเพราะคนเกินกว่าจะซื้อมาดื่ม
เห็นได้ชัดว่าคนมักมองภาพลักษณ์ในด้านลบก่อนด้านดีเสมอ แม้ว่ามันจะมีอยู่เพียงเล็กน้อยก็ตาม ไม่ต่างจากการที่จุดดำจุดเล็กๆ จุดหนึ่งจะสังเกตได้ง่ายมากเมื่ออยู่บนแผ่นกระดาษขาว ดังนั้นหากเราจะออกรบในสนามธุรกิจด้วยอาวุธที่เรียกว่า “ปากต่อปาก” เราจำเป็นต้องสร้างเกราะกันภัยให้กับตนเองเสียก่อน ซึ่งเกราะนั้นมีชื่อว่า “ภาพลักษณ์ที่ดี” นั่นเอง ในการมีแบรนด์ครีมเป็นของตัวเอง หรือการสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง ภาพลักษณ์ของสินค้าที่เราต้องการนำเสนอนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากให้การช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า ต้นทุนทางการตลาดเอง ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่ผู้ประกอบการจะต้องเสีย จะดีกว่าไหมถ้าสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้ ลองนำเทคนิควิธีการที่พรีมาแคร์รวมรวมมาให้ไปใช้ดูนะคะ